วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

~ประวัติจันทบุรี~


ประวัติจันทบุรี ตอนที่ 1
จันทบุรี เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในประเทศไทย แต่เริ่มสร้างเมื่อใดไม่สามารถจะหาหลักฐานแน่นอนได้ ปรากฏหลักฐานในหนังสือฝรั่งเศสชื่อ แคมโบช ซึ่งชาวฝรั่งเศสชื่อ ม.อิตีเมอร์ เขียนไว้เมื่อ พ.ศ.2444 ว่าได้มีบาทหลวงองค์หนึ่ง พบศิลาจารึกภาษาสันสกฤต ที่ตำบลเขาสระบาป ในศิลาจารึกนั้นมีข้อความว่า เมื่อ 1,000 ปี ล่วงมาแล้ว มีเมืองหนึ่งชื่อว่า ควนคราบุรี เป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก ตั้งอยู่เชิงเขาสระบาป
ชื่อ ควนคราบุรี นี้ จะเป็นชื่อเมืองตรงกับเมืองจันทบุรีในปัจจุบันหรือไม่ ยังเป็นข้อสงสัยอยู่ แต่ที่อ้างสถานที่ว่าตั้งอยู่ที่เชิงเขาสระบาปนั้นน่าจะเป็นเมืองเดียวกัน เพราะเมืองเก่าแก่ที่สุดของจันทบุรีนั้นตั้งอยู่ที่เชิงเขาสระบาป ยังมีซากปรากฏอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ชาวพื้นเมืองเดิมของจันทบุรี เป็นเชื้อชาติ “ชอง”
พวกชองในปัจจุยัน ตั้งภูมิลำเนาทำมาหากินอยู่ในป่า ซึ่งอยู่ติดกับเขตแดนเมืองพระตะบองและบางท้องที่ในเขตกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ เช่นที่ ตะเคียนทอง คลองพลู จันทเขลม ฯลฯ พวกนี้มีภาษาพูดอย่างหนึ่งต่างหากจากภาษาเขมรและภาษาไทย ทางมานุษยวิทยาได้จัดให้อยู่ในจำพวกตระกูลมอญ-เขมร เช่นเดียวกับขอมโบราณเหมือนกัน พวกชองชอบลูกปัดสีต่างๆ และใช้ทองเหลืองเป็นเครื่องประดับ เข้าใจว่าเดิมทีเดียวพวกชองนี้คงจะตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ตามท้องที่ต่างๆ ในเมืองจันทบุรี และเพิ่งจะถอยร่นเข้าป่าเข้าดงไปในเมื่อไทยมีอำนาจเข้าครอบครองเมืองจันทบุรี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
เมื่อประมาณพ.ศ.1400 พวกขอมมีอำนาจ ได้แผ่เข้าครอบครองเมืองจันทบุรี มีหลักฐานเป็นซากเมืองเก่าเหลือปรากฏอยู่ คือ กำแพงก่อด้วยศิลาแลงกับเชิงเทินดินเป็นคันขึ้นไป และมีถนนโบราณอีก 2 สาย ซึ่งยังคงสั่ง เกตุเห็นเป็นแนวได้ นอกจากนี้ยังมีศิลาแกะสลัก เศียรเทวรูปที่วัดทองทั่ว ทับหลังศิลปขอม (ปัจจุบันอยู่วัดโบสถ์) สิงห์ศิลา(ปัจจุบันอยู่ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศจังหวัดจันทบุรี) และศิลาจารึกภาษาขอมที่ได้จากบ้านเพนียด หน้าเขาสระบาป ใกล้วัดทองทั่ว ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองจังหวัดจันทบุรี
พวกขอมคงจะครองเมืองจันทบุรีอยู่ประมาณ 400 ปีจนกระทั่งเสื่อมอำนาจลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 17 พวกไทยทางอาณาจักรฝ่ายใต้ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิ(เมืองอู่ทอง)ได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้ได้ จันทบุรีจึงรวมอยู่ในอาณาจักรไทยทางฝ่ายใต้เรี่อยมา มีหลักฐานที่ควรจะเชื่อได้ว่า เมืองนี้เคยเป็นเมืองขึ้นขอไทยมาแล้วตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง คือเมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้น ในพ.ศ.1893 ทรงประกาศว่า กรุงศรีอยุธยามีประเทศราชอยู่ 16 หัวเมือง มีชื่อเมืองจันทบุรีอยู่ด้วยหัวเมืองหนึ่ง
ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง เมื่อได้เมืองจันทบุรีเป็นเมืองขึ้นแล้ว ต่อมามีการย้ายตัวเมืองเดิมที่เชิงเขาสระบาป ตำบลคลองนารายณ์ มาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านหัววัง ตำบลพุงทลายเดิม(ปัจจุบันเป็นตำบลจันทนิมิต) ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี เหตุผลที่ต้องย้ายเมืองมาตั้งใหม่ เพราะเมืองเดิมอยู่ติดกับภูเขาสระบาป ยากที่จะขยายเมืองออกไปให้ใหญ่โตกว่าเดิมได้ และเมืองใหม่ที่บ้านหัววังนี้อยู่ใกล้กับแม่น้ำ สะดวกต่อการคมนาคมและหาน้ำใช้
หลักฐานการสร้างเมืองที่นี่คือ บริเวณนี้เดิมยังมีเค้าซากเมืองเก่าเหลืออยู่ และเคยมีผู้ขุดพบพระพุทธรูป หรือส่วนของพระพุทธรูปในบริเวณบ้านหัววัง เมื่อประมาณ พ.ศ.2511-2512 ก็มีผู้ขุดพบส่วนของพระพุทธรูปอีก ทางทิศเหนือของที่ดินที่ก่อสร้างเป็นศูนย์การค้าในเขตตำบลจันทนิมิต
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอเชื่อได้ว่า เมื่อพ.ศ.1927 พระราเมศวร เสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ และกวาดต้อนชาวเมืองมาไว้ที่เมืองจันทบุรีในตำบล ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า”บ้านลาว”ตั้งอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรี เหนือ”บ้านขอม”และเหนือบ้านหัววังขึ้นไป ต่อมาชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในครั้งนั้นคงจะได้สมพงษ์กับชาวพื้นเมืองเดิม เช่น พวกขอม และพวกชอง เป็นต้น จึงทำให้สำเนียงและคำพูดบางคำ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีผิดแผกแตกต่างไปจากทางภาคกลางและภาคพายัพบ้าง แต่แม้จะผิดแผกแตกต่างกันไปประการใดก็ตาม ชาวจันทบุรีก็ยังคงใช้ภาษาไทยเป็นภาษาท้องถิ่นพูดกันอยู่โดยทั่วไปตลอดทั้งจังหวัด ยกเว้นแต่คนหมู่น้อย เช่น ชาวจีนและญวน ซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ใหม่ในระยะหลังเท่านั้นที่ยังคงพูดภาษาของตนเอง ที่ตั้งเมืองครั้งที่ 2 คงอยู่ประมาณระหว่าง พ.ศ.1900 ถึงพ.ศ.2200
ต่อมาประมาณ พ.ศ.2200 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการย้ายเมืองจากบ้านหัววัง ตำบลพุงทลาย(เดิม) มาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่ม ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี เพราะเมืองเดิมที่บ้านหัววัง ตำบลพุงทลาย แม้ว่าจะอยู่ริมแม่น้ำจันทบุรี สะดวกต่อการคมนาคมติดต่อค้าขายก็ตาม แต่มีข้อเสียประการสำคัญคือ มีน้ำท่วมทุกปี การสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่มนี้ คงทำให้เป็นเมืองป้อมเหมือนอย่างเมืองโบราณทั้งหลายคือ มีคูและเชิงเทินรอบเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างยาวประมาณด้านละ 600 เมตร แนวกำแพงนี้แต่ก่อนมีที่หลังศาล และหลังศาลากลางหลังเก่าปัจจุบันถูกรื้อไปหมดแล้ว ยังมีแนวกำแพงเหลืออยู่ให้เห็นบ้างทางหลังกองพันทหารนาวิกโยธิน ประมาณ 100 เมตร ที่ตั้งเมืองจันทบุรีครั้งที่ 3 อยู่ที่ตำบลนี้ตลอดมาจนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เมืองจันทบุรีไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับสงครามมากนัก เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันออก อาณาเขตไม่ติดต่อกับพม่า จึงไม่ปรากฏว่ามีการทำสงครามกับพม่าเป็นเหตุให้เมืองจันทบุรี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งทางชายฝั่งทะเลตะวันออกยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งเสบียงอาหารและกำลังพล
ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาขณะที่พม่ายกทัพมาตีและล้อมกรุง
ศรีอยุธยาอยู่นั้น สมเด็จพระตากสินมหาราช เมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ ได้นำกำลังพลประมาณ 500 คน พร้อมด้วยทหารคู่ใจ คือ พระเชียงเงิน หลวงพิชัยอาสา หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกไปทางทิศตะวันออกผ่าน นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แล้วจึงยึดเมืองจันทบุรีเพื่อเป็นแหล่งสะสมเสบียง อาหาร รวบรวมรี้พล เป็นเวลาถึง 5 เดือน ได้ทหารไทยจีนประมาณ 5,000 คน ต่อเรือรบได้ประมาณ 100 ลำเพื่อไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาต่อไป นับได้ว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองสำคัญ เคยเป็นที่ตั้งมั่นของวีรกษัตริย์มหาราชพระองค์หนึ่งของไทยมาก่อน
ความสำคัญของจันทบุรีในสมัยกรุงธนบุรี พอสรุปได้ว่าเป็นเมืองท่าหลักทางชายฝั่งทะเลตะวันออก กับเป็นเมืองยุทธศาสตร์เหมาะสำหรับตั้งรับข้าศึก และเมืองนี้ก็ตั้งอยู่บริเวณบ้านลุ่มตลอดมาจนสิ้นสมัยกรุงธนบุรี
จันทบุรีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยรัชการของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมืองจันทบุรีก็ยังคงตั้งอยู่ที่บ้านลุ่ม ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประเทศไทยเกิดพิพาทกับประเทศญวณ ถึงกับทำสงครามกันด้วยเรื่องเจ้าอนุวงศ์ การทำสงครามระหว่างญวณกับไทยในครั้งนั้น ใช้กองทัพบกและกองทัพเรือ เมืองจันทบุรีเป็นเมืองชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกอยู่ใกล้กับญวณ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าญวณจะมายึดเอาเมืองจันทบุรีเป็นที่มั่นเพื่อทำการต่อสู้กับไทย และตัวเมืองจันทบุรี ตั้งอยู่ในที่ลุ่ม ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นฐานทัพต่อสู้กับญวณ ฉะนั้นจึงได้โปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิศ บุญนาค) เป็นแม่กองออกมาสร้างป้อมค่ายและเมืองขึ้นใหม่ ที่บ้านเนินวง ตำบลบางกะจะ ตำบลที่จะสร้างเมืองใหม่นี้ตั้งอยุ่ในที่สูง เป็นชัยภูมดีเหมาะแก่การสร้างฐานทัพต่อสู้ข้าศึก ลักษณะของเมืองที่สร้าง มีกำแพง ป้อม คู ประตู 4 ทิศ เป็นรูปสี่เหลี่ยมกว่างประมาณ 14 เส้น ยาว 15 เส้น มีปืนตั้งเรียงรายอยู่ตามช่องใบเสมา สร้างเมื่อพ.ศ. 2377 ใช้เวลาแรมปีและกำลังคนมากมายจนแล้วเสร็จ ภายในเมืองได้สร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง คลังเก็บอาวุธ และวัดซึ่งมีชื่อว่า”วัดโยธานิมิต” เมืองที่สร้างใหม่ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ พร้อมกับการสร้างเมืองใหม่นั้น ยังได้โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เป็นแม่กองสร้างป้อมค่ายที่หัวหาดปากน้ำแหลมสิงห์ป้อมหนึ่ง และให้พระยาอภัยพิพิทเป็นแม่กองสร้างไว้บนเขาแหลมสิงห์อีกป้อมหนึ่ง เดิมป้อมทั้งสองยังไม่มีชื่อ ต่อมาสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังมิได้เสวยราชย์ได้เสด็จประพาสเมืองจันทบุรี จึงได้พระราชทานนามป้อมที่อยู่บนเขาแหลมสิงห์ว่า “ป้อมไพรีพินาศ” และป้อมที่อยู่หัวหาดแหลมสิงห์ว่า “ป้อมพิฆาตปัจจามิตร”
แต่ป้อมพิฆาตปัจจามิตรได้ถูกฝรั่งเศสรื้อเสียแล้ว เมื่อคราวฝรั่งเศสรื้อเมืองจันทบุรี เพื่อสร้างที่พักทหารฝรั่งเศส ซึ่งเรียกกันว่า “ตึกแดง” ในปัจจุบันนี้
เมื่อได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่บ้านเนินวงแล้ว รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้สั่งย้ายเมืองจันทบุรี จากที่บ้านลุ่มไปอยู่ที่เมืองใหม่ และมีความปรารถนาที่จะให้ประชาชนอพยพจากเมืองเก่าที่ตั้งเป็นตัวจังหวัดในปัจจุบัน ไปอยู่ที่เมืองใหม่ด้วย แต่เนื่องด้วยตัวเมืองใหม่ตั้งอยู่บนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 30 เมตร และตั้งอยู่ห่างจากคลองน้ำใสซึ่งเป็นคลองน้ำจืด ประมาณ 1 กิโลเมตร ไม่สะดวกแก่ประชาชนในเรื่องน้ำใช้ ประชาชนจึงไม่ใคร่สมัครใจอยู่ คงอยู่ที่เมืองเก่าเป็นส่วนมาก พวกที่อพยพไปอยู่จนตั้งเป็นหลักฐานก็มีแต่หมู่ข้าราชการ ปัจจุบันยังมีบุตรหลานของข้าราชการ สมัยนั้นตั้งเคหะสถานอยู่ที่บ้านทำเนียบในเมืองใหม่มาจนทุกวันนี้ และเมื่อการสงครามระหว่างไทยกับญวณสงบลงแล้ว เมืองใหม่ก็ไม่มีความสำคัญอย่างไรที่ประชาชนที่เมืองเก่าจะอพยพไปอยู่ จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯให้ย้ายเะมืองจันทบุรีจากบ้านเนินวงกลับมาตั้งอยู่ที่บ้านลุ่มตามเดิม และได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เมืองใหม่จึงกลายเป็นเมืองร้างมาตั้งแต่ครั้งนั้น
สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.2419 พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองจันทบุรี ได้เสด็จไปที่ค่ายเนินวง เขาพลอยแหวน ตลาดเมืองจันทบุรี น้ำตกพลิ้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดน้ำตกพลิ้วเป็นอย่างยิ่ง และได้เสด็จประพาสหลายคราว ทรงโปรดมากถึงกับมีพระราชดำรัสว่า
“เราได้เห็นน้ำตกอย่างนี้มาสองแห่งสามแห่ง คือ ที่ปีนัง เกาะช้าง และสีพยา เห็นไม่มีที่ไหนงามกว่าที่เลย ถ้าจะให้เรานั่งดูอยู่ยังค่ำก็แทบจะได้ ด้วยเย็นสบายจริง”
ที่น้ำตกพลิ้วนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ศิลาแลง ทรงกลมแบบลังกามีบันใดขึ้นทั้ง 4 ด้าน เมื่อ พ.ศ. 2419 พระราชทานนามเจดีย์ว่า “อลงกรณ์เจดีย์” ต่อมาใน พ.ศ.2424 ได้ทรงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์เป็นรูปปิรามิด ก่อด้วยอิฐถือปูนอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นที่ระลึกแต่พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งเสด็จทิวงคตลงท่ามกลางลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อคราวเสด็จประพาสพระราชวังบางประอิน ภายในอนุสาวรีย์นี้บรรจุพระอังคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ไว้ด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้จารึกข้อความไว้ที่อนุสาวรีย์ด้วยถ้อยคำที่ทราบซึ้งว่า...
ที่ระลึกถึงความรักแห่ง
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
พระบรมราชเทวีอรรคมเหสี
ซึ่งเสด็จทิวงคตแล้ว ด้วยเธอได้มาถึงที่นี่
เมื่อจุลศักราช 1236 (พ.ศ.2417)
โดยความยินดีชอบใจ
อนุสาวรีย์นี้
สร้างขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์บรมราช
ผู้เป็นพระสวามี อันมีความทุกข์
เพราะเธอเป็นอย่างยิ่ง ในจุลศักราช 1243
( พ.ศ.2424 )
การเสด็จประพาสจันทบุรีใน พ.ศ.2419 นั้น ได้เสด็จประพาสมาทางเรืออรรคราชวรเดช ขณะที่ผ่านทุ้งกระเบน (ปัจจุบันชื่อ คุ้งกระเบน ในเขตอำเภอท่าใหม่) ได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นโครงเปรียบเทียบสอนใจที่ลึกซึ้งว่า
ทุ้งกระเบนมีบ่อกว้าง ริมสมุทรเกิดกอบสลุลสุทธ์ สะอาดแท้
พยุพากระพือรุด ระลอกท่วม บ่อแฮ
น้ำคั่งเค็มแล้วแม้ วิดขึ้นหายเค็ม
เฉกชนบัณฑิตย์ผู้ ปรีชา
พิเศษสุทธ์อัธยา ยิ่งล้ำโดยพาลประพันธ์พา โทษทุ่ม ถมแฮสาวสืบความจริงซ้ำ เสร็จแล้วเห็นคุณ
ชนพาลปานน้ำซึ่ง เค็มเขียว
ยาวใหญ่ไหลเป็นเกลียว ว่างโว้ง
ใสจริงแต่จิบเดียว ฤาดื่ม ได้เลยมากก็มากคดโค้ง คบค้าพาเสีย
บัณฑิตย์จักเทียบแม้น นที จืดฤา
เห็นขุ่นจอกแหนมี มากด้วย
กระหายดื่มเย็นดี ดลสุข เกษมแฮ
น้อยยิ่งน้อยนักม้วย มอดได้แทนตัว
หลังจากเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้ว พ.ศ.2419 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จประพาสน้ำตกคลองนารายณ์ (น้ำตกสระบาป) ด้วย แต่มิได้เสด็จขึ้นไปถึงตัวน้ำตกได้ไปนมัสการจุลลีจุมภตเจดีย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างไว้ และได้ทรงสระสนานสนลำธารใกล้ศาลาที่ประทับ และทรงพระราชนิพนธ์โคลงเกี่ยวกับน้ำตกสระบาปนี้ คล้ายทำนองนิราศว่า
สระบาป บาปก่อนสร้าง ปางใด
สระบ่สระทรวงใน สร่างสร้อย
สระสนานยิ่งอาลัย นุชนาฏ
สระช่วยสระบาปน้อย หนึ่งในสบนาง

แล่ะต่อมาในสมัยฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรี เมื่อ พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ไทยกับฝรั่งเศสได้เกิดกรณีพิพาทกันด้วยเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยฝรั่งเศสกล่าวหาว่า ไทยรุกล้ำเข้าไปในดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส และได้ทำร้ายเจ้าพนักงานฝรั่งเศสด้วย ฝ่ายไทยได้แก้ว่าดินแดนนั้นเป็นของไทย ฝรั่งเศสบุกรุกเข้ามา ฝ่ายไทยจำเป็นต้องขัดขวาง เมื่อการโต้เถียงไม่เป็นที่ตกลงปรองดองกันแล้ว ฝรั่งเศสจึงใช้อำนาจ โดยส่งเรือรบเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ไทยกับฝรั่งเศสจึงเกิดปะทะกันด้วยอาวุธเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความเสียหายด้วยกัน ฝ่ายไทยเห็นว่าจะสู้ฝรั่งเศสในทางกำลังอาวุธมิได้ จึงขอเปิดการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยสันติวิธี ฝ่ายฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2436 รวม 6 ข้อด้วยกัน มีใจความสำคัญที่ควรกล่าวคือ ให้รัฐบาลไทยยอมสละสิทธิดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตลอดจนเกาะทั้งหลายในลำน้ำนั้นด้วย กับให้ไทยต้องเสียเงินเป็นค่าปรับให้แก่ฝรั่งเศสจำนวน 2 ล้านฟรังก์ และเงินไทย และเงินไทยอีก 3 ล้านบาท ก่อนที่จะได้ตกลงทำสัญญาณกันนี้ ฝรั่งเศสจะต้องยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน ฝ่ายไทยต้องยอกรับฝรั่งเศสทุกประการ
ในระหว่างที่ปะทะกับฝรั่งเศสนั้น ทางจันทบุรีได้เตรียมต่อสู้ป้องกันตามกำลังที่พอจะทำได้ เพราะในเวลานั้นมีกองทหารเรือตั้งอยู่ในตัวเมืองและที่ป้อมปากน้ำแหลมสิงค์ แต่เมื่อได้ทราบว่ารัฐบาลยอมให้ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรี กองทหารเรือทั้งสองแห่งก็ได้รีบโยกย้ายไปอยู่ที่เกาะจิก และอำเภอขลุง ต่อมาอีกไม่กี่วันใน พ.ศ.2436 นั้นเอง ฝรั่งเศสได้ยกกองทหารเข้าสู่เมืองจันทบุรีทหารโดยมาเป็นทหารญวนที่ส่งมาจากไซ่ง่อน ที่เป็นทหารฝรั่งเศสไม่มากน้อยนักส่วนใหญ่จะเป็นนายทหาร จำนวนทหารฝรั่งเศสและญวนรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 600 คนเศษ ได้แยกกันอยู่ 2 แห่ง คือที่ป้อมปากน้ำแหลมสิงห์พวกหนึ่ง ได้รื้อป้อมพิฆาตปัจจามิตรแล้วสร้างตึกแถวเป็นที่พักและกองบัญชาการเรียกว่า “ตึกแดง” ทั้งได้สร้างที่คุมขังนักโทษไว้ด้วย เรียกกันว่า “คุกขี้ไก่” อีก
พวกหนึ่งตั้งอยู่ในเมืองจันทบุรี ในบริเวณที่เป็น “ค่ายทหาร” ปัจจุบันนี้ ขณะที่ฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีนั้น ได้กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ไทยบ้าง คือฝรั่งเศสได้ช่วยเหลือทำการปราบปรามพวกอั้งยี่ และช่วยเหลือพยาบาลประชาชนที่ป่วยไข้ แต่สิ่งที่เป็นผลเสียกับฝ่ายไทยในเมืองจันทบุรีก็มีมิใช่น้อย ทหารฝรั่งเศสที่เข้ายึดครองเมืองจันทบุรี ไม่มีอำนาจในการปกครองประชาชน อำนาจปกครองยังเป็นของไทยอยู่ ตลอดเวลาที่ฝรั่งเศสยึดครองฝรั่งเศสมีอำนาจเพียงปกครองทหารและคนที่ขึ้นในบังคับฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ในบางคราวที่ฝรั่งเศสก็ก้าวก่ายอำนาจการปกครองของไทยบ้าง ฝ่ายไทยต้องพยายามอะลุ้มอล่วยเสมอจึงไม่ใคร่มีเรื่องขัดใจกัน จนถึงเวลาที่ฝรั่งเศสถอนทหารออกไปจากจันทบุรี และเนื่องด้วยไทยยังมีอำนาจในการปกครองขณะที่ฝรั่งเศสยึดครองอยู่ จึงได้มีชาวจีนและญวนพื้นเมืองบางคนไม่อยากอยู่ใต้อำนาจการปกครองของไทย พากันเข้าไปอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส เพื่อหวังประโยชน์บางประการ จึงทำให้การบังคับบัญชาบุคคลจำพวกนี้ลำบากยิ่งขึ้น แต่พอฝรั่งเศสออกจากจันทบุรีไปแล้ว คนจำพวกนี้ก็พลอยหมดไปไม่มีคนในปกครองของฝรั่งเศส
เมื่อรัฐบาลไทยและฝรั่งเศสได้ทำสัญญาตกลงกันเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2446 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยฝ่ายไทยยินยอมยกดินแดนเมืองตราด ตลอดจนถึงเมืองประจันตคีรีเขตให้แก่ฝรั่งเศส กองทหารฝรั่งเศสทั้งหมดก็เริ่มถอนออกไปจากจันทบุรีจนหมดสิ้นทเมื่อวันที่ 12 มกรคม พ.ศ.2447 และรัฐบาลไทยได้ย้ายกองทหารเรือที่เกาะจิก และที่อำเภอขลุง กลับมาตั้งอยู่ในเมืองจันทบุรีตามเดิม รวมเวลาที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรี 11 ปี
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสหเทพราช (เสง วิรยะศิริ) ปลัดทูลฉลองกระทราวงมหาดไทยออกมาจัดการทำพิธีฉลองเมืองจันทบุรีเป็นเวลา 3 วัน ต่อมาชาวจันทบุรีได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นที่บริเวณใกล้เคียงกับป้อมไพรีพินาศ เพื่อเป็นที่ระลึกว่า ป้อมค่ายทหารแหลมสิงห์ได้เลิกล้มไป ให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบเรื่องราวนี้
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสหเทพราช (เสง วิรยะศิริ) ปลัดทูลฉลองกระทราวงมหาดไทยออกมาจัดการทำพิธีฉลองเมืองจันทบุรีเป็นเวลา 3 วัน ต่อมาชาวจันทบุรีได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นที่บริเวณใกล้เคียงกับป้อมไพรีพินาศ เพื่อเป็นที่ระลึกว่า ป้อมค่ายทหารแหลมสิงห์ได้เลิกล้มไป ให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบเรื่องราวนี้
ในปี พ.ศ.2450 ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากประพาสยุโรป ก่อนที่จะเสด็จกลับคืนสู่พระมหานคร พระองค์ก็ได้เสด็จมาประพาสเมืองจันทบุรีอีกวาระหนึ่ง โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีมาถึงหน้าเกาะจุฬา ปากน้ำจันทบุรี ในเวลากลางคืนของวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2450 รุ่งขึ้นเป็นวันเสด็จเข้าเมือง มีราษฎรมาคอยเฝ้าชมพระบารมี คอยเฝ้ารับส่งเสด็จอยู่อย่างหนาแน่น ตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำจันทบุรีและตามทางที่เสด็จผ่าน แสดงถึงความจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถทราบได้จากคำกราบบังคมทูลถวายของพระยาวิชยาธิบดี สมุหเทศาภิบาล มีข้อความว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส นำฉันทานุมัติของข้าราชการฝ่ายทหาร พลเรือน และพ่อค้าพาณิชคณาจารย์ ประชารฎร บรรดามีตำแหน่งนิวาสสถานทั่วเมืองจันทบุรี ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในมงคลสมัยที่ได้รับเสด็จอีกครั้งหนึ่งในคราวนี้ อันเป็นเหตุให้บังเกิดปิติยินดีทั่วหน้าหาที่สุดมิได้ ด้วยความนิยมเมืองนี้แต่ไรมาว่าเป็นเมืองโปรดของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ย่อมพอพระราชหฤทัยที่จะเสด็จประพาส และทรงพระกรุณาคุ้นเคยแก่ชาวเมืองทั่วไปมาก ใช่แต่เท่านั้นครั้งถึงคราวเคราะห์เข็ญเกิดขึ้นแก่เมืองนี้ก็ทราบอยู่ทั่วกันว่า ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงบำเพ็ญพระวิริยะบารมี เพื่อจะบำบัดความวิบากยากไร้ของบ้านเมืองมิได้ย่อหย่อน ทั้งทรงพระอุตส่าห์ทำนุบำรุง เพื่อจะให้บ้านเมืองและประชาชนมีความสุขสมบูรณ์ขึ้นโดยลำดับมาจนการทั้งนี้สำเร็จได้ดังพระบรมราชประสงค์ ด้วยอำนาจพระวิริยะอุตส่าห์ควรเป็นอัศจรรย์ และเป็นพระเดชพระคุณแก่ข้าพระพุทธเข้าทั้งหลายหาที่เปรียบมิได้ ด้วยแลเห็นพระเมตตาคุณปรากฏเสมอมาเช่นนี้น้ำใจชาวเมืองจันทบุรีจึงมีปฏิพัทธ์ผูกพันอยู่ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
เมื่อได้ทราบว่าไม่ทรงสบายจนถึงต้องเสด็จไปรักษาพระองค์ในยุโรปประเทศ ก็พากันอาวรณ์ร้อนใจตั้งหน้าคอยฟังข่าวเสด็จทุกคราวที่จะทราบได้ ครั้นได้ทราบว่าเสด็จไปทรงเจริญพระบรมสุขจึงค่อยคลายความกังวล จนได้แลเห็นพระองค์ทรงสิริโสภาคย์ปราศจากโรคาพาธมลทินปรากฏแก่ตาข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายในวันนี้ทำให้ปลื้มใจไปด้วยโสมนัสยินดี จึงพร้อมกันขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลถวายไชยมงคลต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทรงพระเจริญพระชนมายุยืนนาน ทรงเสวยสุขสำราญนิราศโรคาพาธปราศจากภยันตราย เสด็จดำรงรัฐสีมาอาณาจักรเป็นที่พึงพำนักของประชาชนทั้งหลายสืบไปให้จงช้านาน อนึ่งขอให้สรรพราชการซึ่งมีพระราชหฤทัยหวังทั้งสองฝ่ายที่จะบำรุงความสมบูรณ์สุขสบายของสยามรัฐสีมามณฑล จงประสิทธิศิริสวัสดิ์พิพัฒน์ผล ให้สมดังพระราชหฤทัยจำนงทุกประการ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ”
นอกจากนี้ชาวเมืองจันทบุรียังมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อประชาชนเมืองนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะทราบได้จากพระราชดำรัสตอบดังนี้ “ดูกรประชาชนอันเป็นที่รักของเราถ้อยคำอันไพเราะซึ่งได้กล่าวต้อนรับและอำนวยพร อันเจ้าทั้งหลายได้ให้ฉันทะมากล่าวเฉพาะหน้าเราเวลานี้ เป็นที่พอใจและจับใจเป็นอันมาก
เมืองจันทบุรีนี้แต่เดิมมา ย่อมเป็นที่เราไปมาเยี่ยมเยียนอยู่เป็นนิตย์ ได้รู้สึกว่าเป็นเมืองหนึ่งซึ่งอาจบำบัดโรคและให้ความสำราญใจสำราญกาย เพราะได้มาอยู่ในที่นี้เป็นหลายคราวจึงเป็นที่รักมุ่งหมายจะบำรุงให้มีความเจริญยิ่งขึ้น ความคุ้นเคยต่อประชาชนที่นี้ย่อมมีเป็นอันมาก ดุจเจ้าทั้งหลายระลึกได้ถึงว่าเราต้องห่างเหินไปไม่ได้มาอยู่เมืองนี้ถึง 14-15 ปี ด้วยความจำเป็นแต่มิได้ละเลยความผูกพันในที่จะบำรุงเมืองนี้ให้อยู่เย็นเป็นสุข และมีใจระลึกถึงประชาชนทั้งหลายอันเป็นที่รักที่คุ้นเคยกัน และได้ฟังข่าวสุขทุกข์ของเจ้าทั้งหลายอยู่เป็นนิตย์ เมื่อเป็นโอกาสที่จะได้มาเมืองนี้ในครั้งแรกซึ่งได้เลิกร้างไปช้านาน จึงมีความยินดีตักเตือนใจอยู่เสมอ ซึ่งจะใคร่เห็นภูมิประเทศและราษฏรอันเป็นที่รักของเรา ผลแห่งความมุ่งหมายอันแรงกล้านี้ได้สำเร็จเป็นอันดี เป็นเหตุให้เกิดความชื่นชมโสมนัสในใจว่า บ้านเมืองมิได้เสื่อมทรามไป มีความสุขสมบูรณ์อยู่สมดังความปรารถนาของเรา ทั้งได้เห็นหน้าพวกเจ้าทั้งหลายเบิกบานแสดงความชื่นชนยินดี ส่อให้เห็นความจงรักภักดีมิได้เสื่อมคลายสมกับคำที่กล่าวว่า มีมิตรจิตและมิตรใจ ในระหว่างตัวเราและเจ้าทั้งหลายความรู้สึกอันนี้ย่อมมีแต่ความชื่นชมยินดีทวีขึ้น
บัดนี้ เมืองจันทบุรีได้เป็นเมืองใหญ่ในมณฑลฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งรัฐบาลของเราได้คิดจะบำรุงให้เจริญดียิ่งขึ้น เราขอเตือนเจ้าทั้งหลายให้ตั้งหน้าทำมาหากิน และประพฤติตนให้สมควรแก่ความชอบธรรมซึ่งควรประพฤติ และขอให้มีความไว้วางใจในตัวเราว่าจะเป็นผู้ชื่นชมยินดีในเวลาที่เจ้ามีความสุขสมบูรณ์มั่งคั่ง และจะเป็นผู้เดือดร้อนกระวนกระวายใจในเวลาที่เจ้าทั้งหลายต้องภัยได้ทุกข์อันใช่เหตุ ในเวลานี้เราขอแสดงความไว้วางใจว่า ข้าราชการทั้งหลายคงจะได้ทำหน้าที่เพื่อจะทำนุบำรุงให้เจ้าทั้งหลายมีความสุขสมดังปราถนาของเรา ขออำนวยพรให้เจ้าทั้งหลายได้รับความเจริญสุขสิริสวัสดิ์ ทำมาค้าขายได้ผลเป็นสุขสมบูรณ์ทั่วหน้ากันทุคนเทอญ”
การบริหารราชการของเมืองจันทบุรีสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมานั้น จัดเป็นหัวเมืองที่ขึ้นต่อกรมท่า ต่อมาในสมัยรัชการพระบาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังจากการจัดหน่วยราชการบริหารราชการส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2437 เป็นต้นมา ก็มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่งภูมิภาคเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ให้อยู่ในความปกครองดูแลของกระทรวงมหาดไทย การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลนี้มิได้จัดขึ้นพร้อมกันทั้งหมดในคราวเดียวกัน หากแต่ได้ตั้งขึ้นเพียงปีละ 2-3 มณฑลแล้วแต่ความเหมาะสม ใน พ.ศ.2449 ได้มีการจัดตั้งมณฑลจันทบุรีขึ้น โดยมีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด อยู่ในเขตปกครอง มีที่ทำการครั้งแรกอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี (หลังเรือนจำซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทำการป่าไม้จังหวัดจันทบุรี ศาลากลางหลังนี้สร้างใน พ.ศ.2442) ต่อมาใน พ.ศ.2459 ได้สร้างศาลากลางมณฑลในบริเวณเมืองเก่าหน้าค่ายตากสิน ตำบลวัดใหม่ และย้ายที่ทำการของจังหวัดไปทำงานที่ศาลากลางของมณฑล
ในสมัยรัชกาลพระบาลสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2476 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ได้ยกเลิกมณฑลเทศาภิบาล และจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัด และอำเภอ เมืองจันทบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดที่สำคัญจังหวัดหนึ่งทางชายแดนฝั่งทะเลตะวันออก โดยในปัจจุบันนี้มีเนื้อที่ประมาณ 3,782,500 ไร่ หรือ 6,052 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ คือ อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอท่าใหม่ อำเภอขลุง อำเภอมะขาม อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอโป่งน้ำร้อน ทั้ง 6 อำเภอนี้แบ่งออกเป็น 62 ตำบล 576 หมู่บ้าน 3 เทศบาล และ 9 สุขาภิบาล ในปี พ.ศ.2521 ได้มีการย้ายที่ทำการจากศาลากลางหลังเก่าไปอยู่ที่ศาลากลางหลังใหม่ ถนนเลียบเนิน ตำบลวัดใหม่ จนกระทั่งทุกวันนี้.








4 ความคิดเห็น:

  1. บางทีก็ยาวไป

    อ่านไม่ไหวคะ

    อิอิ

    ตอบลบ
  2. บทความนี้ยาวเป็นแม่น้ำโขงเชียว

    อิอิ

    ตอบลบ
  3. สุดยอดเลยอ่ะ

    เมืองจันทบุรีเนี่ย

    ตอบลบ
  4. โครตยาวเลยว่ะๆๆ




    555+

    ตอบลบ